เมื่อความสมบูรณ์แบบของคนเราแตกต่างกัน ชีวิตที่ได้เติมเต็มด้วยวันเวลาที่ได้อยู่กับผู้คนอันเป็นที่รัก ได้พักผ่อนในบริบทที่แสนอบอุ่น อาจเป็นอีกหนึ่งวิถีความสมบูรณ์แบบของไลฟสไตล์สมัยนี้ ความคุ้มค่าที่ไม่ได้ถูกวัดในเชิงปริมาณ แต่รอยยิ้มและเวลาที่ใช้ไป เป็นมาตรวัดใหม่ของนิยามที่ใช้เรียกความสุขที่สมบูรณ์แบบ.
ความสุขที่ลงตัว ในแบบของตัวเอง เป็นโจทย์ที่ได้มาจากเจ้าของบ้าน ที่อยากออกมาใช้พื้นที่ภายนอก ที่รองรับญาติๆได้หลายๆครอบครัว และต้องการลานกางเต็นท์ให้กับลูกด้วย
จึงนำมาเป็นแนวความคิดในการออกแบบที่อยากเล่าเรื่องราวในแง่มุมดีๆของกิจกรรมที่ได้ทำร่วมกันในหน้าร้อน เลยเกิดมาเป็นชื่อ the perfect summer ผ่านการจัดวางฟังก์ชั่นและออกแบบกิจกรรม
เราแบ่งสวนออกเป็น 2 โซนหลักๆ
คือโซนที่เป็นลานโล่งสามารถนำอุปกรณ์แคมป์มาวางหรือเด็กๆจะวิ่งเล่นด้วยกันก็ได้
ส่วนอีกโซนเป็นพื้นที่กึ่งในร่ม
การออกแบบให้ความสำคัญกับช่องเปิดประตู/หน้าต่างของบ้าน เพราะเป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานภายในและภายนอกบ้านได้รับรู้ถึงกัน สิ่งที่อยู่ตรงกับช่องเปิด สิ่งนั้นจะถูกรับรู้จากคนด้านใน เราเลยตั้งใจอย่างมากในการเลือกสิ่งที่จะจัดวางให้คนในบ้าน รับรู้และมองเห็น ผ่านช่องประตูและหน้าต่าง เพราะเป็นสิ่งที่จะได้เห็นในทุกๆวัน
เมื่อเดินมาทางศาลา จะเจอกับไม้ประธานที่อยู่ในกะบะ ต้นนี้ชื่อ หว้าแม่น้ำโขง เราเลือกต้นนี้มาเพราะว่ามีฟอร์มลีลาที่น่าสนใจ ต้นนี้อยู่ตรงกับทางที่จะเข้าบ้าน จากทางเข้าบ้าน จากศาลา เป็นจุดที่เราจะมองเห็นจากหลายๆมุม
เราเลือกใช้วัสดุที่เป็นวัสดุจากธรรมชาติมาทำผนัง ตัวผนังนี้ก็คือ ผนังไม้เผาไฟ เป็นวิธีรักษาเนื้อไม้ของคนญี่ปุ่น ต้องเป็นการเผาไฟที่ได้อุณหภูมิที่เหมาะสมจริงๆ ที่ความร้อนจะมากพอที่จะเข้าไปรักษาถึงเนื้อไม้ด้านใน แต่ไม่มากจนทำลายความแข็งแรงของตัวไม้ ซึ่งเป็นจุดขายของแต่ละโรงไม้
เราเลือกไม้จริงมาไว้ตำแหน่งที่ตรงกับหน้าต่างในจุดที่เจ้าของบ้านจะมองเห็นทุกวันได้เฝ้ามองดูการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาเป็นอีกเสน่ห์นึงของวัสดุธรรมชาติ ที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบและงดงามตามเนื้อแท้ของวัสดุ
เคาท์เตอร์ที่เลือกมาใช้ก็เป็นเคาท์เตอร์ไม้จริง เราสามารถสังเกตได้จากเปลือกไม้ ผิวสัมผัสขรุขระ ลายของไม้ รอยแตกบนผิวไม้ที่ไม่ได้ถูกมนุษย์สร้างขึ้น จะเห็นว่าช่างไม้ค่อยๆใช้ฝีมือในการประสานรอยนั้นด้วยเทคนิคงานไม้
ผนังตกแต่งที่มีฟังก์ชั่นเป็นช่องวางของอันนี้เราอยากให้มีอะไรมาเบรคผนังและใช้เป็นปลายสายตาเวลามองมาจากทางศาลา เลยทำช่องนี้ให้ได้ mood ออกมาเหมือนช่องเตาผิงของต่างประเทศ เมื่อเรามองเห็นช่องนี้ ช่องนี้ก็จะสื่อถึงภาพจำให้เรานึกถึงเตาผิง เราก็จะรับรู้ถึงความอบอุ่นเวลาที่มีการผิงไฟ โดยที่ไม่จำเป็นต้องจุดไฟจริงๆ เหมือนเป็นการที่ทำให้เรานึกถึงสิ่งหนึ่งโดยนำอีกสิ่งมาเป็นตัวกลาง
เป็นอีกไซต์หนึ่ง ที่เราชอบและอยากนำเสนอ พื้นที่ที่ทำให้ทุกครั้งที่ใช้งานเหมือนเป็นวันหยุดพักผ่อนที่เติมเต็มให้กับคนในบ้าน.
จะสังเกตได้ว่า ทุกวัสดุหรือทุกมุมที่เราเลือกมาใช้ในงานออกแบบนั้นมีกลิ่นอายของเรื่องเล่า ที่มา ความเป็นมา และความงดงามที่ไม่ได้สมบูรณ์ของวัสดุ แต่ประกอบรวมกันเป็นพื้นที่ที่จะรวบรวมความทรงจำดีๆที่สมบูรณ์และเติมเต็มให้กับบ้านหลังนี้ค่ะ